วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562

โรคและวัคซีนไก่

บทความนี้อาจจะมีประโยชน์ สำหรับสาวกคนเลี้ยงไก่ไข่และไก่ชนิดอื่น ๆ ทั้งหลายครับ
โรคไก่และการป้องกัน
ในการเลี้ยงไก่ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องเลี้ยงไก่ให้มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง จึงจะให้ผลผลิตสูง ดังนั้นเราต้องรู้จักโรคและการป้องกันโดยถือหลักว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” โดยทั่วไปแล้วโรคที่มักจะทำความเสียหายให้กับการเลี้ยงไก่ไข่ ได้แก่
1. โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงที่สุดของไก่ในประเทศไทย เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ะระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการหายใจเอาเชื้อ หรือกินน้ำ อาหารที่มีเชื้อปนเข้าไป จากอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย และสิ่งขับถ่ายอื่นๆ ของไก่ป่วย ไก่ที่ป่วยจะมีอาการทางระบบหายใจและระบบประสาท เช่น หายใจลำบาก มีเสียงดังเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล หัวสั่น กระตุก ขาและปีกเป็นอัมพาต คอบิด เดินเป็นวงกลม หัวซุกใต้ปีก สำหรับแม่ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลดลงทันที่ และมักจะตายภายใน 3-4 วัน หลังจากแสดงอาการป่วย
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนลาโซตาเชื้อเป็น และลาโซตาเชื้อตาย ดูวิธีการใช้จากตารางการทำวัคซีนท้ายเล่ม
2. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจที่แพร่หลายที่สุด เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดขึ้นได้กับไก่ทุกอายุ แต่มักจะมีความรุนแรงในลูกไก่ มีอัตราการตายสูงมาก ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ อ้าปากและโก่งคอเวลาหายใจ หายใจลำบาก เวลาหายใจมีเสียงครืดคราดในลำคอ ไอ น้ำมูกไหล ตาแฉะ เซื่องซึม เบื่ออาหาร ในไก่ไข่จะไข่ลดลงอย่างกะทันหัน
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ
3. โรคอหิวาต์ไก่ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายทางอาหารและน้ำ ไก่ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหงอย ซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลือง เหนียงมีสีคล้ำกว่าปกติ ถ้าไก่เป็นโรคนี้อย่างร้ายแรง ไก่อาจตายโดยไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น
การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะ คลอเตตร้าซัยคลิน หรือออกซีเตตร้าซัยคลิน หรือใช้ยาประเภทซัลฟา เช่น ซัลฟาเมอราซีน หรือซัลฟาเมทธารีน
การป้องกัน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์
4. โรคฝีดาษไก่ เป็นโรคที่มักเป็นกับลูกไก่และไก่รุ่น ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อกันโดยการสัมผัส เช่น อยู่รวมฝูงกัน และยุงเป็นพาหะของโรคกัด โรคนี้ไม่แสดงอาการป่วยถึงตาย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการมีจุดสีเทาพองตามบริเวณใบหน้า หงอน เหนียง และผิวหนัง และเมื่อจุดพองขยายตัวและแตกออกเป็นสะเก็ดลูกไก่จะหงอยซึม ไม่กินอาหารและตายในที่สุด
การป้องกัน โดยการทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่
5. โรคหวัดติดต่อหรือหวัดหน้าบวม เป็นโรคทางเดินหายใจมักเกิดกับไก่รุ่นและไก่ใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปะปนอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำตาของไก่ป่วย ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการจาม มีน้ำตา น้ำมูกอยู่ในช่องจมูกและเปียกเปรอะถึงปาก และมีกลิ่นเหม็น เมื่อเป็นรุนแรง ตาจะแฉะจนปิด หน้าบวม เหนียงบวม ไก่กินอาหารน้อยลง ไก่ที่กำลังให้ไข่จะไข่ลด
การรักษา โดยใช้ยาพวกซัลฟา ได้แก่ ซัลฟาไธอาโซล ซัลฟาไดเมท๊อกซิน ส่วนยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ออกซี่เตตร้าซัยคลิน อิริโธมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน
การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดี การถ่ายเทอากาศในโรงเรือนที่ดี และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัดหน้าบวม
6. โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ เป็นโรคทางเดินหายใจ มักเป็นกับไก่ใหญ่ อายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหายใจไม่สะดวก ยื่นคอและศีรษะตรงไปข้างหน้า อ้าปากเป็นระยะๆ และหลับตา ไก่จะตายเพราะหายใจไม่ออก
การป้องกัน การจัดการสุขาภิบาลที่ดี และป้องกันไม่ให้ลมโกรก และการให้วัคซีนป้องกันโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ
7. โรคมาเร็กซ์ เป็นโรคที่มักเป็นกับไก่รุ่น ไก่สาว ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส ที่สะสมอยู่ที่หนังไก่บริเวณโคนขนของไก่ป่วยเป็นแผ่นเล็กๆ คล้ายขี้รังแค ไก่ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการหงอยซึม การเจริญเติบโตไม่ได้ขนาด ในกรณีที่เป็นอัมพาต ไก่จะอ่อนเพลีย กินน้ำกินอาหารไม่ได้ การทรงตัวไม่ปกติ เดินขาลาก แล้วเป็นอัมพาตเดินไม่ได้
การป้องกัน การสุขาภิบาล และการเลี้ยงดูที่ดีไม่ให้ไก่เครียด และการให้วัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ (นำส่งค่อนข้างลำบาก เพราะต้องแช่ในถังไนโตรเจน ตลอดเวลา)
วัคซีน
วัคซีนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมขึ้นจากส่วนของเชื้อโรคหรือเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งเมื่อฉีดเข้าร่างกายสัตว์ก็สามารรถทำให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันโรคนั้นสามารถที่จะป้องกันสัตว์ไม่ให้ป่วยเป็นโรคนั้น ชนิดของวัคซีนแบ่งออกได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
1. วัคซีนเชื้อเป็น เป็นวัคซีนที่เตรียมจากเชื้อที่มีความรุนแรงแต่ถูกทำให้อ่อนแอลง หรือถูกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นจุลชีพที่ไม่มีความรุนแรง ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ จุลชีพเหล่านี้สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความเครียดหรือเกิดอาการแพ้วัคซีน วัคซีนเชื้อเป็นสามารถให้ไก่ได้ทีละตัว โดยการหยอดตาหรือหยอดจมูก หรือให้ไก่เป็นกลุ่มโดยการละลายในน้ำดื่ม หรือการสเปรย์ ทำให้ประหยัดแรงงาน วัคซีนเชื้อเป็นสามารถถูกทำลายได้ง่ายโดยภูมิคุ้มกันที่ถ่ายทอดมาจากแม่แต่ให้ความคุ้มโรคสูง อาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้ แต่การเก็บรักษายุ่งยากกว่าวัคซีนเชื้อตาย และมีราคาถูก
2. วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่มักเตรียมจากเชื้อที่ความรุนแรงที่ถูกทำให้ตายโดยทางเคมีหรือฟิสิกส์ จุลชีพเหล่านี้ไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงมีความปลอดภัย แต่ให้ความคุ้มโรคต่ำ วัคซีนเชื้อตายจะให้โดยวิธีการฉีดเท่านั้น สารที่ใช้ผสมกับวัคซีนจะเป็นน้ำมันหรืออลูมินั่มไฮดร็อกไซด์ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี วัคซีนเชื้อตายมีราคาแพงแต่เก็บรักษาง่าย
การทำวัคซีน
การทำวัคซีนไก่สามารถทำได้หลายวิธีทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ใช้และชนิดของโรค
1. การหยอดตาหรือหยอดจมูก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ เพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคนิวคาสเซิล และหลอดลมอักเสบ โดยละลายวัคซีนในน้ำยาละลายวัคซีน (น้ำกลั่น ที่อุณหภูมิห้อง) การใช้น้ำเย็นจัดอาจทำให้เยื่อบุอักเสบ ขวดที่ใช้หยอดวัคซีนควรเป็นขวดมาตรฐาน เพื่อให้ลูกไก่ได้รับวัคซีนครบโด๊ส การหยอดตาให้หยอดวัคซีน 1-2 หยดต่อไก่ 1 ตัว ตำแหน่งที่จะหยอดวัคซีนก็คือที่บริเวณมุมตาด้านใน รอจนกระทั่งวัคซีนเข้าไปในตาจึงปล่อยไก่ การหยอดจมูกจะให้ผลดีกว่าการหยอดตา การหยอดโดยใช้นิ้วมือปิดรูจมูกไว้ข้างหนึ่งแล้วจึงหยอดวัคซีนในรูจมูกอีกข้างหนึง การทำวัคซีนโดยการหยอดตาและหยอดจมูกทำให้ไก่ทุกตัวได้รับปริมาณวัคซีนที่ใกล้เคียงกันทุกๆ ตัว ดังนั้น ภูมิคุ้มโรคที่เกิดจึงมีระดับใกล้เคียงกัน เพียงแต่วิธีการทำยุ่งยาก เสียเวลา และเสียแรงงานมากกว่าเท่านั้น
2. การแทงปีก เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ คือบริเวณใต้ผิวหนัง เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เป็นวัคซีนที่มีความเข้มข้นมาก เนื่องจากใช้น้ำยาละลายวัคซีนเพียงเล็กน้อย และใช้เข็มจุ่มวัคซีนครั้งละ 0.01 ซี.ซี. โดยสังเกตุจากการที่วัคซีนเต็มรูเข็มทั้งสองข้าง แล้วแทงเข็มจากทางด้านล่างผ่านทะลุผนังของปีกไก่ ระวังอย่าให้แทงผ่านขน กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ภายใน 7-10 วัน หลังจากทำวัคซีนจะเกิดรอยสะเก็ดแผลทั้งด้านบนและด้านล่างของผนังปีกไก่ซึ่งเกิดจากการแทงเข็มผ่าน
3. การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการทำวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณท้ายทอยหรือฐานคอ ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ให้ผลในการคุ้มกันโรคนาน
4. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เป็นวิธีที่นิยมใช้กับวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก การฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันดีกว่าการหยอดตาและจมูก เพราะจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วยสารนำขึ้นในกระแสเลือดและเกิดการหมุนเวียนไปทั่วร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์ไก่ เป็นต้น
5. การละลายน้ำดื่ม เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ประหยัดแรงงาน และเหมาะสำหรับไก่จำนวนมากๆ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันจะมีความผันแปรค่อนข้างมาก เนื่องจากไก่แต่ละตัวได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนั้น จะต้องหยุดให้น้ำไก่เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำวัคซีน เพื่อกระตุ้นให้ไก่กระหายน้ำและกินน้ำผสมวัคซีนให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง ระยะเวลาในการอดน้ำจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ อุปกรณ์ให้น้ำต้องเพียงพอสำหรับไก่จำนวน 2 ใน 3 ของคอกสามารถเข้าไปกินน้ำได้พร้อมๆ กัน ถ้าไม่พออาจเพิ่มอุปกรณ์ให้น้ำขึ้นมาชั่วคราวสำหรับการนี้โดยเฉพาะ จุดนี้ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัยที่สุด เพราะการล้มเหลวจากการให้วัคซีนนี้มักเกิดจากระบบน้ำไม่ถูกต้องและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ สำหรับปริมาณน้ำที่ใช้ละลายวัคซีนจะผันแปรไปตามอายุของไก่ ดังนี้
อายุ 1 สัปดาห์ ใช้น้ำ 2-5 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
อายุ 2-3 สัปดาห์ ใช้น้ำ 9-11 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
อายุ 5-7 สัปดาห์ ใช้น้ำ 14-18 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
อายุมากกว่า 7 สัปดาห์ ใช้น้ำ 20-23 ลิตรต่อไก่ 1,000 ตัว
6. การสเปรย์ เป็นวิธีที่นิยมมากสำหรับการทำวัคซีนครั้งแรกในลูกไก่อายุ 1 วัน เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสในระบบะทางเดินหายใจ อาจสเปรย์ตั้งแต่ในโรงฟักหรือโรงเรือนที่เลี้ยง โดยสเปรย์ใส่ลูกไก่ที่อยู่ในกล่องเลย ลูกไก่จะได้รับวัคซีนผ่านทางลูกตาหรือจมูก เป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว สามารถให้วัคซีนแก่ไก่จำนวนมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ประมาณวัคซีนที่ได้รับอาจแตกต่างกันไป การสเปรย์ควรสเปรย์ให้พอหมาดๆ ไม่ควรให้ตัวลูกไก่เปียกโชก และควรทิ้งลูกไก่ไว้ 10-15 นาที เพื่อให้ตัวแห้ง
เครดิต pakin pete

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น